บ่ายวันหนึ่ง ในบ้านศรีบูรพา
...
เรื่องบางเรื่องในโลกเรา บางทีก็แปลกดี ฉันเพิ่งตอบคำถาม นิตยสารไฮคลาส ไปเมื่อไม่นานนี่เอง เกี่ยวกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้
...
คนสัมภาษณ์ถามฉันว่า "ใครคือต้นแบบในการเขียนหนังสือ"
....
ฉันตอบไปว่า ฉันชอบนักเขียนไทยยุคสุภาพบุรุษนักประพันธ์ เพราะนักเขียนยุคนั้น ทำให้ฉันรู้สึกว่าอาชีพเขียนหนังสือหรือทำหนังสือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและสง่างามมาก
...
และ ศรีบูรพา ก็คือนักเขียนแนวหน้าของยุคนั้น
...
หลังจากนั้นไม่กี่วันต่อมา พี่ๆ ที่ชมรมฯ วันศุกร์ถามฉันว่า "คุณชนิดไม่สบาย พวกเราจะไปเยี่ยมกัน เอ็งจะไปด้วยมั้ย"
..
คุณชนิดไหนนะพี่?
"ชนิด สายประดิษฐ์ ก้อ จูเลียต ที่แปลหนังสือไง"
ภรรยาของ ศรีบูรพา น่ะเหรอ
เฮ้ย! พี่
ไม่ไปได้ไงเล่าเอ้อ!
"วันไปเยี่ยม เราเอาเบียร์ไปกินด้วยจะได้ไหม" ผู้อาวุโสท่านหนึ่งของชมรมวันศุกร์เริ่มวางแผน ผู้อาวุโสน้อยกว่าอีกท่านตอบว่า "เอาไปได้พี่ แต่มันน่าเกลียด" ...
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากตรงนั้น
...
สมัยก่อน บ้านหลังนี้กว้างขวางมากกว่าสามร้อยตารางวา ด้วยที่ดินที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับเป็นของขวัญวันแต่งงานมาจากเจ้านาย แต่ในช่วงที่ครอบครัวต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ แล้วปล่อยบ้านให้เช่าอยู่นานปี ตอนหลังมาวัดที่ดินอีกที เจ้าบ้านบอกว่าเหลืออยู่ประมาณสองร้อยแปดสิบตารางวา ...
นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ทางครอบครัวนี้ก็เกือบจะสูญเสียบ้านหลังนี้ไปเสียแล้ว จากกฏหมายไทยเกี่ยวกับการครอบครองโดยปรปักษ์ ซึ่งหมายถึงว่าถ้ามีคนอื่นมาอยู่บ้านเราไปนานๆ คนๆ นั้นก็สามารถยึดบ้านของเราไปเป็นของตนได้ตามกฏหมาย ทางคุณลุงอี๊ดทายาทของศรีบูรพาและคุณป้าวาณีผู้เป็นภรรยาเล่าให้เราฟังยิ้มๆ พร้อมตบท้ายว่า "กฏหมายประหลาดๆ แบบนี้ก็มีนะ"
...
ฉันฟังแล้วก็กวาดตามองไปรอบๆ พลางนึกถึงประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่และยาวนานของเจ้าของบ้าน พร้อมกับนึกในใจว่า ถ้าบ้านหลังนี้ต้องตกไปเป็นของคนอื่น คงน่าเสียดายแทนครอบครัวและคนไทยทั้งประเทศ และถ้าเป็นอย่างนั้น วันนี้ฉันก็คงไม่มีโอกาสได้มาเยือนบ้านหลังนี้เป็นแน่แท้
....สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นำป้าย "บ้านนักเขียน" มาติดที่นี่เป็นบ้านหลังแรก หลังจาก "ศรีบูรพา" ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก เมื่อปี 2547-2548 โดยมีนักเขียนชื่อดังของโลก ที่ได้รับการยกย่องพร้อมกับ "ศรีบูรพา" ของเราก็ได้แก่นักเล่านิทานอย่าง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ่น ,จูลส์ เวิร์น และ พาโบล เนรูด้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอัครนักเขียนระดับสุดยอดทั้งสิ้น ....
นับว่า "ศรีบูรพา" ของเรามีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียมบ่าเทียมไหล่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นอย่างเต็มภาคภูมิ ในการเสนอชื่อ "ศรีบูรพา" เข้ารับรางวัลนี้ เป็นผลงานของสมาคมนักเขียนฯ เต็มๆ ขอปรบมือให้ดังๆ
...
...
ตัวบ้านมีการต่อเติมและปรับปรุงอยู่บ้าง เนื่องจากเคยน้ำท่วม จนหนังสือและข้าวของจำนวนหนึ่งชำรุดเสียหายไปบ้าง แต่ทายาทก็พยายามรักษารูปแบบเค้าโครงเดิมของบ้านเอาไว้ได้อย่างดี ...
โปรดสังเกตหลังคายาวที่พาดเฉียงลงมานั้น ฉันว่าสมัยก่อนนั้น คงเป็นแบบบ้านสุดเท่เก๋ไก๋ที่สุดในบางกอกแน่นอนเลย เพราะถึงตอนนี้ ก็ยังดูสวยดีจัง ...ว่าไหม
...
.. ส่วนซ้ายสุด คือส่วนที่ต่อเติมใหม่ ซึ่งถ้าเจ้าบ้านไม่บอก ก็คงดูไม่ออกเลย
......คุณยายชนิด สายประดิษฐ์ ในวัยเก้าสิบห้าเก้าสิบหก แต่งตัวสวย และดูเป็นคนแก่ที่มีสุขภาพกายและใจดีเยี่ยม นอกจากเรื่องการฟัง ที่ต้องพูดดังกว่าปกติหน่อยหนึ่ง คุณยายจำคนแม่นมากทีเดียว ...
โดยเฉพาะการจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับตัวพี่บรรณาธิการในทีมเรา ที่ได้ชื่อว่า "แม่น" เรื่อง "ศรีบูรพา"มากคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งคุณยายถึงกับออกปากถามว่า "วันนี้ไม่กินเบียร์หรือ" เล่นเอาฮากันทั้งวง
...
พี่บรรณาธิการเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อน เวลามาเยี่ยมบ้านหลังนี้ คุณยายชนิดซึ่งได้ชื่อว่า "ดุ" และไม่ชอบเรื่องการดื่มเลย มักจะให้คนที่บ้านออกไปซื้อเบียร์มาให้พี่เขาทุกครั้งไป--อภิสิทธิ์ชนของบ้านนี้คนหนึ่งนะนี่ :)
.......
...คุณลุงอี๊ด สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชายคนเล็กของ "ศรีบูรพา" กับภรรยาคือ คุณป้าวาณี ซึ่งนามสกุลเดิมก่อนแต่งงานคือ "พนมยงค์" เพราะคุณป้าเป็นลูกสาวของท่านปรีดี พนมยงค์ ลองนึกดูละกัน ลูกชายศรีบูรพา แต่งงานกับลูกสาวท่านปรีดีนี่นะ --- กิ่งทองใบหยกแท้ๆ :)...
... โต๊ะทำงานของ "ศรีบูรพา"พร้อมพิมพ์ดีดคู่ใจ "ข้างหลังภาพ" และผลงานชิ้นเอกหลายเรื่องล้วนหลั่งไหลออกมาจากพิมพ์ดีดเครื่องนี้ ฉันนึกภาพว่าสมัยท่านทำงานนั้น เสียงพิมพ์ดีดคงดังระงมไปทั้งบ้านเป็นแน่แท้ ฉันยังรู้สึกว่า คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ยังไงก็ไม่มีทางเท่ได้เท่าการเคาะพิมพ์ดีดแน่นอน และทุกวันนี้จะมีใครยอมเท่อีกล่ะ :) ศรีบูรพาสร้างผลงานจากพิมพิ์ดีดเครื่องนี้มากมายเหลือเกิน
...
สำหรับเก้าอี้นั้น ศรีบูรพา ได้รับมาจากเจ้านายฝ่ายหญิงพระองค์หนึ่ง สังเกตไหมว่า ศรีบูรพา ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนกบฏ หัวก้าวหน้ามากคนหนึ่งของสังคมไทยสมัยนั้น แต่ดูเหมือนจะได้รับความเอ็นดูจากบรรดาเจ้านายผู้มีอำนาจในสมัยนั้นหลายพระองค์ นับว่าเป็นทั้งขวัญใจเจ้านายและขวัญใจประชาชนไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งฉันว่าน่าทึ่งมากทีเดียว
...... ฉันเคยอ่านเรื่องราวของศรีบูรพา มาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน แม้จะรู้แก่ใจดีแล้วว่าท่านมีผลงานมากมายแค่ไหน ยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่เมื่อได้มาเห็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ หรือผลงานเขียนที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ จำนวนมากมายหลายร้อยชิ้นแล้ว ฉันยังรู้สึกทึ่งได้อีกมาก ในฐานะมนุษย์ที่เกิดมาหนึ่งชีวิตเหมือนกัน มีมนุษย์ผู้หนึ่งในไม่กี่คนกระมัง ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ล้ำค่าฝากไว้บนโลกนี้มากมายก่ายกองเช่นนี้
...
... ผลงาน "เล่มๆ"ของศรีบูรพาส่วนหนึ่ง ในกรอบกระจก มีคลิปปิ้งข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับศรีบูรพา ในสมัยนั้น ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของท่าน ล้วนแล้วแต่อยู่ในสายตาของสังคมไทยทั้งสิ้น ถือว่าเป็นชนชั้นนำของสังคมโดยแท้จริง
...
.. คนสมัยก่อนเค้าพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ได้น่ารักดีนะ :) ลองนึกเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์สมัยนี้แล้ว นับว่าเรามาไกลมากทีเดียว อย่างน้อย ชั่วชีวิตของฉัน ก็ไม่เคยเห็นคำว่า "หิริโอตัปปะ" ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แม้แต่ครั้งเดียวล่ะน่า หรือเท่าที่เห็นๆ และเป็นอยู่ ยังสงสัยว่าสมัยนี้คนทำสื่อยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนในสมัยก่อนหรือเปล่า:)
.... ในบรรดาคลิปปิ้งทั้งหมดที่จัดแสดงไว้ในบ้าน ฉันชอบคลิปปิ้งชิ้นนี้ที่สุด เป็นหน้าสารบัญหนังสือสุภาพบุรุษของศรีบูรพา สังเกตชื่อ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" เป็น "บรรณาธิการและเจ้าของ" โดยมี "มาลัย ชูพินิจ" หรือ "แม่อนงค์ " หรือ "เรียมเอง" นักเขียนชื่อดังยุคนั้นอีกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ
...
ตัวเจ้าของและบรรณาธิการนั้นต้องเก่งและเจ๋งอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัย แต่ลองนึกดูละกัน ว่าขนาด"ผู้ช่วยบรรณาธิการ" สมัยนั้นเขาจะเก่งกาจขนาดไหน แล้วหนังสือที่ออกมา มันจะเจ๋งขนาดไหน เอาไว้ฉันจะเล่าถึงเรื่อง "ยาขอบ"กองบรรณาธิการอีกคนหนึ่งของหนังสือ "สุภาพบุรุษ" บ้างละกัน รู้แล้วจะหนาวววว :)...... ภาพวาดศรีบูรพา ขณะติดคุกด้วยข้อหาทางการเมือง ก็ยังนั่งเขียนหนังสืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ในคุก คุณลุงอี๊ดชี้ให้ดูมุมขวาล่างของภาพ แล้วให้พวกเราทายซิว่าอะไร ไม่มีใครทายถูกเลยสักคน ลุงอี๊ดเลยเฉลยว่าคุกไทยสมัยนั้นไม่มีส้วม ตุ่มๆ เล็กๆ ที่เห็นคือถังส้วม ที่ใช้งานเต็มแล้วก็ต้องยกไปเท :) เห็นแล้วรู้แล้ว คุณรู้สึก"รัก"ชักโครกขึ้นมาจับใจเหมือนฉันหรือเปล่านะ :)
...
... แอบถ่ายพี่บรรณาธิการ กับบรรยากาศบ้านศรีบูรพา เข้ากันดีทีเดียว มองภาพแล้วเหมือนเราถอยหลังกลับไปอีกหลายสิบปี บรรยากาศแบบนี้ เชยๆ แต่ก็ได้ใจดีเหมือนกันนะ มีหลายครั้งในชีวิตเลยแหละ ที่ฉันชอบคิดว่า ฉันน่าจะเกิดในยุคสุภาพบุรุษนักประพันธ์นี่นะ ยิ่งอ่านหนังสือ ยิ่งเห็นอะไรเกี่ยวกับยุคนี้มากขึ้น ยิ่งอยากเกิดทันยุคนี้จริงๆ
..... วงสนทนาของพี่ป้าน้าอาในยามบ่ายนั้น ฉันไม่ค่อยได้ฟังเท่าไหร่ เพราะมัวแต่เดินสำรวจบ้านเป็นหลัก :)
...คนอ่าน