Pai = ปาย หนังสือนำเที่ยว Lonely Planet อธิบายไว้ว่า Pai: pronounced like the English word ‘bye’ not ‘pie’ หมายถึงนครเมกกะของนักเดินทาง (Traveler’s Mecca) ครั้งหนึ่งในชีวิตชาวมุสลิมแท้จริง ต้องจาริก “เมกกะ” ให้ได้สักครั้งฉันท์ใด นักเดินทางที่แท้จริงย่อมจาริก “ปาย” ให้ได้สักครั้งฉันท์นั้น
Tourist = นักท่องเที่ยว คนที่ท่องเที่ยวชั่วครั้งชั่วคราวแล้วกลับบ้าน ไปทำงาน ใช้ชีวิตตามปกติ
Traveler = นักเดินทาง คนที่ไม่ทำงานทำการ เอาแต่เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ นานเป็นเดือน เป็นปี บางทีออกเดินทางท่องเที่ยวแล้วไม่ยอมกลับบ้านอีกเลยก็มี บางคนแต่งงาน ปลูกบ้าน หางานทำในแหล่งท่องเที่ยวที่ตนชอบ เช่นในปาย-มีเยอะ
Joe Coming = โจ คัมมิ่ง ผู้เขียนหนังสือนำเที่ยวของ Lonely Planet ฉบับประเทศไทยและลาว ผู้ทำให้ปายกลายเป็น “นครเมกกะของนักเดินทาง” ปัจจุบันโจ คัมมิ่งและครอบครัว เป็นชาวต่างชาติอีกหนึ่งครอบครัวที่ย้ายเข้ามาพำนักถาวรอยู่ในปาย
Pai Post = “ปายโพสต์” หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแจกฟรีในปาย ที่มี โจ คัมมิ่ง เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว แต่แว่วๆ ว่ากำลังจะกลับมาอีกครั้ง
$ 17 million = 17 ล้านบาท เป็นราคาประกาศขายบ้านไม้สองชั้น บนที่ดินแปลงเล็กๆ ไม่กี่ตารางวา ริมถนนชัยสงคราม ในตัวเมืองปาย ก่อนหน้านี้บ้านหลังนี้เคยใช้เป็นที่ทำการหนังสือพิมพ์ปายโพสต์
Pai Republic = ร้านโปสการ์ดและของที่ระลึกในปาย ประเมินค่ายังไม่ได้ แต่ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านไม้ 17 ล้าน
Utopai = “ยูโทปาย” เป็นหนังสือทำมือเล่มหนึ่ง ที่คนปายเคยทำขายเมื่อหลายปีก่อน โดยมีนักเขียนและกองบรรณาธิการประกอบด้วยคนทำงานศิลปะ, อดีตคนทำงานโฆษณา, อดีตแอร์โฮสเตส ฯลฯ เป็นหนุ่มสาวชาวเมืองกลุ่มแรกๆ ที่ละทิ้งกรุงเทพฯมาปักหลักเปิดเปิดร้านเก๋อยู่ในปาย อาทิ ร้านโปสการ์ดมิตรไทย, ร้าน All About Coffee, ร้าน The Society Café คนกลุ่มนี้มีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงบุคลิคและรสนิยมของปาย จากเมืองชนบทห่างไกลความเจริญ ให้กลายเป็น “นครเมกกะของนักเดินทาง”รวมถึง “เมืองอาร์ติสต์” ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
All About Coffee = ร้านกาแฟดีที่สุดในปาย ตามนิยามใน Lonely Planet ก่อตั้งร้านเมื่อปี 2542
Utopia = “ยูโทเปีย” หนังสือเล่มหนึ่งของโธมัส มอร์ ว่าด้วยเมืองอุดมคติอันน่าอยู่ เป็นที่มาของชื่อ“ยูโทปาย”
จาก : ปทานุกรมศัพท์ปาย : ฉบับ’ปราย พันแสง
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์