ค่ายนักเขียนน้อยเชียงคาน
ฉันไม่แน่ใจหรอกว่า การสอน"เขียนหนังสือ"นั้น มันจะได้ผลแค่ไหน และมันสอนกันได้อย่างไรแน่ ทฤษฎีการเขียนนั้นมีอยู่มากหลาย แต่มีกี่คนที่ใช้ได้ผล
คุณดวง ธนภูมิ ส่งข่าว อบรมนักเขียนเยาวชนเชียงคานครั้งที่ 1 วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงเรียนเชียงคาน จ.เลย "เพื่อให้เด็กๆ ชาวเชียงคาน ได้มีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวบ้านตัวเอง ในมุมมองของเด็กๆ ผ่านสารคดีท้องถิ่น วิทยากรในงานมีัดังนี้ครับ คุณ ’ปราย พันแสง / คุณศรัณย์ บุญประเสริฐ / คุณพิษณุรักษ์ ปิตาธะสังข์ คุณจิตติมา ผลเสวก /คุณธนภูมิ อโศกตระกูล งานนี้มีนักศึกษาจากสาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาร่วมกิจกรรมการเขียนสารคดีเรื่องของเชียงคานด้วยครับ ประมาณ 50 คนร่วมแรงร่วมใจ เพื่อเชียงคานของเราครับท่านใดสนใจมาร่วมสังเกตการณ์ ก็ยินดีต้อนรับนะครับ"......... คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมด
นักเรียนในค่ายนักเขียนของเรามีประมาณ 50 กว่าคน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ สีๆ กลุ่มละประมาณสิบคน ในภาพนี้คือกลุ่มสีชมพู สังกัดของ'ปราย พันแสง เราเน้นการเรียนนอกห้อง อาศัยสนามบอลบ้าง ใต้ต้นไม้บ้าง ตรงบันไดตึกบ้าง เรียนกันแบบนี้แหละ :)
...
แผลใหม่ไทเชียงคาน.
ผลงานเขียนของ "สาวน้อยข้าวปุ้นฮ้อน"สลิตา ไพศาลธรรม
สายลมยามเช้าคละเคล้ากับแสงแดดอ่อนๆ ค่อยๆ ลอยพัดผ่านต้องผิวกายของคนที่เดินผ่านไปมาบนถนนริมโขง ให้รู้สึกได้ถึงความเย็นและความอบอุ่นไปพร้อมๆกัน อาจเรียกบรรยากาศเช่นนี้ว่า เป็นหนึ่งในมนต์เสน่ห์ของเชียงคานที่หลายคนพากันรักและหลงไหล
แต่จะมีใครรู้บ้างล่ะว่า แท้จริงแล้วเมืองเชียงคาน เมืองเล็กๆแห่งนี้กำลังจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ในสายตาของคนเชียงคานโดยกำเนิดแล้วภาพที่ปรากฏตอนนี้กลับไม่ใช่ภาพของเชียงคานบ้านเกิดเหมือนแต่ก่อน
เมืองที่เคยเงียบสงบ เมืองแห่งวิถีพุทธอันสังเกตได้จากวัดเก่าแก่ต่างๆทั้ง 9 วัดในเมืองเชียงคาน ซึ่งแต่ละวัดเองก็อยู่ห่างกันไม่เกิน 500 เมตร แสดงให้เห็นว่าเชียงคานในอดีเคยรุ่งเรืองและศรัทธาในพระพุทธศาสนามากแค่ไหน ชาวบ้านที่เคยแต่งกายสุภาพตามแบบฉบับเชียงคาน ลุกขึ้นมาใส่บาตรข้าวเหนียวในยามเช้าทั้งเด็กตัวเล็กๆตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น
แต่เมื่อมองดูเชียงคานในตอนนี้แล้ว ภาพที่ปรากฏต่อสายตากลับเป็นเหมือนแผลใหม่ที่เพิ่งถูกทำร้ายมา ด้วยกระแสการท่องเที่ยวที่พัดกระหน่ำเข้ามาอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้ตั้งตัวรับมือกับกระแสนั้น เป็นแผลที่เจ็บลึกเข้าไปในหัวใจของไทเชียงคานทุกคน จริงอยู่ที่การท่องเที่ยวทำให้ชาวเชียงคานหลายครอบครัวมีรายได้มากขึ้นจากการเปิดร้านให้เช่า ทำโฮมสเตย์ ขายอาหารหรือของที่ระลึกต่างๆ ยังคงเป็นเชียงคานเมืองวิถีพุทธที่ทุกคนยังคงใส่บาตรข้าวเหนียวในยามเช้า ยังให้ความสำคัญกับการทำบุญกันอยู่
แต่ถ้าลองมองดูให้ดีแล้วจะเห็นว่ายังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างที่แฝงมากับการท่องเที่ยวเหล่านี้ เช่นว่า มีผู้หญิงแปลกหน้า นุ่งกางเกงขาสั้นหรือแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอันโชว์เนื้อนังมังสานั่งใส่บาตรอยู่กับคนเชียงคาน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดูนักแต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นเอง คือ ร้านเหล้าที่ตั้งขายอยู่หน้าวัดอย่างไม่เกรงกลัวต่อบาป
ในยามค่ำคืนแทนที่นักท่องเที่ยวและชาวเชียงคานจะได้นอนหลับผักผ่อนกันอย่างเงียบสงบ กลับต้องได้นอนฟังเสียงเพลงดังๆจากร้านเหล้าดังกล่าว
แม้ว่าในสายตาของนักท่องเที่ยวกลางคืนแล้วจะมองดูร้านเหล่านั้นว่าเป็นดั่งสีสันยามค่ำคืนของเชียงคาน แต่ปัญหามันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นเพราะบริเวณใกล้เคียงกันนั้นยังเป็นโรงเรียนด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ขายเหล้าให้กับเด็กโดยตรง แต่เด็กที่อยู่ในระแวกนั้น ปั่นจักรยาน เดินเล่นและเดินไปกลับโรงเรียนเป็นประจำ พบเห็นบ่อยๆ เข้าก็อาจทำให้คิดไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติของสังคมและไม่ใช่สิ่งผิด จนอาจเกิดการเลียนแบบทำตามในอนาคตได้
เชียงคานในวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆด้าน ลองคิดดูเถิดว่าเชียงคานในอีกหลายปีข้างหน้าจะมีสภาพเป็นเช่นไร ยังคงจะมีมนต์เสน่ห์ให้คนหลงไหลอยู่อีกหรือไม่ หรือจะปล่อยบาดแผลนี้ให้เหวอะหวะ เน่าเปือยและลุกลามเป็นแผลร้ายอย่างไม่มีทางจะรักษาอีกต่อไป
สาวน้อยข้าวปุ้นฮ้อน
สลิตา ไพศาลธรรม
วันสุดท้ายเรียนเสร็จสอนเสร็จ พวกเราชาวคณะเลยชวนกันแวะมาช้อปที่ร้านรวงละแวกชายโขง เจอคุณปู (คนขวาสุด) คุณปูบ่นว่าอยากได้ชื่อร้าน เพราะร้านเธอยังไม่มีชื่อ ตอนแรกเธอคิดไว้ว่าจะใช้ชื่อว่า "ฝ้ายเชียงคาน" แต่คิดไปคิดมา คุณปูบอกว่า ร้านเธอเล็กๆ เอง ชื่อมันใหญ่ไป เธออยากได้ชื่อที่เล็กกว่านี้หน่อย เราเลยช่วยกันคิดให้ แอ่นแอ๊นนนนน ... ตกลงที่ชื่อร้าน "ภูฝ้าย" ค่ะ เธอขึ้นป้ายวันรุ่งขึ้นเลย ทันใจดีมาก ใครไปเชียงคานลองแวะไปอุดหนุนได้ ผ้าฝ้ายร้านเธอสวยและราคาไม่แพงเลย พวกเราหอบมาเต็มกระเป๋าเลย