So Proud to Present
มืออาชีพ
ต้องไม่รู้จักคำว่าออกตัว :)
Last update : July 18-2009
.............
...........
พอดีเธอส่งจดหมายมาให้อ่านก่อน ฉันก็เลยตัดทิ้งไปหลายคำ
..............
ส่วนที่ตัดไปเธอไม่ว่าอะไร--แต่เธอติดใจว่าทำไมเธอจึงออกตัวบ้างไม่ได้"การออกตัวคือการถ่อมตัว ทำไมวงการนี้ต้องโชว์พราวด์ใส่กันเหรอ" เธอว่ามาอย่างนั้น
ฉันก็เลยต้องอธิบายให้เธอฟังยืดยาว
พราวด์หรือเพราด์ของเธอมาจากภาษาอังกฤษคำนี้
Proud \Proud\, a. [Compar. {Prouder}; superl. {Proudest}.] [OE.proud, prout, prud, prut, AS. pr[=u]t; akin to Icel.pr[=u][eth]r stately, handsome, Dan. prud handsome. Cf.{Pride}.]1. Feeling or manifesting pride, in a good or bad sense; as:(a) Possessing or showing too great self-esteem;overrating one's excellences; hence, arrogant;haughty; lordly; presumptuous.[1913 Webster]
...........
ส่วนพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย
Longdo Dictionary เขานิยามไว้ดังนี้
.....
proud to present (phrase) ภูมิใจเสนอproud [ADJ] ภูมิใจในตนเอง, Syn. self-respecting, self-reliant
เป็น "พราวด์" ความภูมิใจระดับสากล ที่พวกเรารู้จักกันทั่วไป ในหนังฝรั่งเวลาลูกทำอะไรดีๆ ให้พ่อแม่ชื่นใจ พ่อแม่ก็จะพูดเลย ว่า"พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกมากเลย" ทำนองนั้น
แต่ในบางแวดวง ยังมีอีก "พาว" คือ พาวเวอร์ หรือ เพาเวอร์ (power) ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ประสิทธิภาพของผงซักฟอกที่มีต่อเสื้อผ้าสกปรก
แต่หมายถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของคนประเภทหนึ่ง ที่ชอบงัดมาใช้ในบางสถานการณ์โดยคิดว่าจะทำให้ตัวเองดูขึ้นในสายตาคนอื่น แต่กลับสร้างความขัดหูขัดตาผู้พบเห็นอย่างมาก จนเรียกกันว่าเป็นการ "โชว์พาว -โชว์พาว" มักพบบ่อยตามวงเหล้าอะไรอย่างนั้น
---
ฉันไม่ค่อยได้ใช้พาวเวอร์ เพราะคงไม่ค่อยมี แต่ได้ใช้ "พราวด์" อยู่บ้าง เพราะหลังๆ มานี้ได้ทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รักสำเร็จได้หลายเรื่อง ก็เลยมักจะภูมิใจเสนอสุดฤทธิ์ จนมีคนแซวว่า So Proud to Present เป็นอย่างยิ่งทำนองนั้น
---
แต่มันก็ไม่ใช่"พราวด์"นัยะแฝงที่คุณบรรณาธิการรายนี้เธอเหน็บมาหรอก การทำงานในวงการหนังสือสำหรับฉันมันไม่ใช่พาว--หรือพราวด์ อย่างนั้น
...
…………
ฉันคิดว่า งานทำหนังสือ มันก็เหมือนนักร้องที่ออกไปยืนอยู่บนเวทีสป็อตไลท์พร้อม แสงสีพร้อม คนดูพร้อมเต็มฮอลล์ นักร้องยืนถือไมค์อยู่ในมือแล้ว นักดนตรีทุกคนก็พร้อมแล้ว แต่ก่อนเปล่งเสียงแรก นักร้องดันไปออกตัวก่อนว่า เสียงไม่ดีนะ ไม่ได้ซ้อมมานะ ป่วยนะ อะไรแบบนั้น ซึ่งฉันว่ามันตลก
...
บนเวที ถ้าไม่พร้อมไม่ต้องออกมาเลย
ให้คนที่พร้อมเขาเบิ้ลแทนไปเลยดีกว่า---ฉันคิดอย่างนั้น
…..
ไม่ได้เข้าข้างอาชีพตัวเอง
...
แต่งานหนังสือมันไม่ใช่ ถ้าคุณไม่พร้อม ถ้าคุณทำผิดพลาด
บางทีคุณไม่มีโอกาสแก้ตัว
……
หนังสือบางเล่ม มีโอกาสพิมพ์ครั้งเดียว แล้วหายไปเลย เช่นคุณทำ ก.ไก่ หายไปตัวหนึ่ง มันก็จะหายไปเลยตลอดชีวิต เพราะคุณอาจจะไม่มีโอกาสได้เติม ก.ไก่ ที่หายไปได้อีกแล้ว
…….
เวลาทำงาน ฉันจึงไม่มองหรอกว่าคุณหน้าเก่าหน้าใหม่ แต่ฉันจะมองคุณมีความสามารถหรือเปล่า คุณพร้อมทำงานหรือเปล่า
……
ทว่า---ในแง่ความผิดพลาด
ของงานผลิตหนังสือ
ไม่ว่ามือใหม่ หรือมืออาชีพ
มันมีโอกาสผิดพลาดเท่ากัน
มีโอกาสทำ ก.ไก่ หายสาบสูญได้เหมือนกัน : )
.....
งานผลิตหนังสือ มันคือการเริ่มต้นใหม่ของทุกเล่ม
ทุกเล่มคือการเริ่มต้นใหม่ของทีมงานทุกคน
....
ก็เห็นผิดพลาดก็เยอะ ในหลายๆ เรื่อง ต่างๆนานา
…….
เมื่อพลาดไปแล้ว ผิดไปแล้ว แก้ไขแล้ว
จะบอกว่าเล่มหน้า คราวหน้าจะไม่ให้พลาดอีก
ก็ยังไม่รู้เลยว่ามันจะพลาดอีกหรือเปล่า
.....
ไม่พลาดตรงนี้ หรือจะไปพลาดที่อื่นอีกหรือเปล่า เพราะลักษณะงาน มันเป็นงานที่สามารถผิดพลาดได้ตลอดเวลา อย่างที่บอกนั่นล่ะว่าทำก.ไก่ หายไปตัวหนึ่ง ก็อาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตัว ก.ไก่ ที่ว่านั้น
มันอยู่ในตัวสะกดที่เป็นชื่อหนังสือ :)
....
....
...
จากประสบการณ์ที่คลุกคลีในกระบวนการทำงานผลิตหนังสือแต่ละเล่ม ฉันจึงมองว่า มือใหม่มือเก่า คุณมีศักดิ์ศรีเท่ากัน
.....
เมื่อคุณตัดสินใจทำ
คุณต้องพร้อม
คุณต้องมั่นใจ
.....
มันก็เหมือนการที่นักร้องออกไปยืนอยู่หน้าเวที
ไมค์อยู่ในมือแล้ว ก็ต้องร้องเพลงให้ดีที่สุด
.....
บนหน้ากระดาษก็เช่นกัน ในแง่ความผิดพลาด ในเมื่อคุณมีสิทธิจะพลาดได้พอๆ กัน :) จึงขึ้นอยู่กับฝีมือคุณ ความรับผิดชอบของคุณต่่างหาก
.....
ไม่ว่าคุณจะออกตัวไว้ล่วงหน้ามากมายแค่ไหน
มันก็ไม่เกิดผลอะไรหรอก
.....
ถ้าคุณพลาด ก็คือพลาด
คุณจะบอกว่าคุณพลาดเพราะ "คุณมือใหม่" ไม่ได้หรอก
พลาดก็คือพลาด
.....
การงดออกตัว หรือไม่ถ่อมตัวจนเกินไป คือความสง่างามของวิชาชีพ ฉันไม่ได้หมายถึงการอวดโอ้ แต่มันคือความมั่นใจและความรับผิดชอบ
อย่างน้อยก็ทำให้คนที่เราทำงานด้วย ติดต่อด้วย
ไม่ต้องรู้สึกกังวลใจกับการทำงานร่วมกับเรามากไปนัก
.....
ฉันไม่ได้คิดว่ามันเป็นการโชว์พาว-หรือพราวด์ แต่อย่างใด
ในโลกของตัวหนังสือใบนี้ มันไม่มี"พาว"หรือ"พราวด์"มาให้โชว์มากมายหรอกคุณเอ๋ย โชว์ความผิดพลาด หรือ "โชว์พลาด" ล่ะก็ --- มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า :)
...
ด้วยเหตุฉะนี้ คนทำงานทั้งหลาย ไม่ว่าวิชาชีพใดแขนงไหน เวลาทำงานก็อย่าออกตัวให้มาก อย่าถ่อมตัวให้มากเกินไปก็แล้วกัน เดี๋ยวคนที่ทำงานด้วยเค้าจะขาดความมั่นใจ
.....
ว่าเราจะรอดไปกับมันหรือเปล่าฟระ :)
................
.....
.....
.....
.....
ฟรีฟอร์มเราใช้งาน "บรรณาธิการ" หลายคน ทั้งบรรณาธิการต้นฉบับภาษาไทย บรรณาธิการต้นฉบับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ภาษาอื่น (ถ้ามี) นอกจากนี้ก็ยังมี "บรรณาธิการบริหาร"และ"บรรณาธิการเล่ม"บ้างในบางครั้ง ตามความเหมาะสม
สำหรับฉัน"บรรณาธิการอื่นๆ"นอกจากนั้น--ก็คืออีกรูปแบบหนึ่งของ"บรรณาธิการเฉยๆ"และ"บรรณาธิการบริหาร"นั่นเอง ที่แตกแขนงออกไปช่วยกันทำงาน เพื่อให้หนังสือเล่มหนึ่งได้เดินทางมาจากความว่างเปล่า แล้วไปอยู่ในมือผู้อ่านโดยสวัสดิภาพ
......
ฉันเคยทำงานอยู่ในสำนักงานที่มีบรรณาธิการมากที่สุด เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีบรรณาธิการถึงสามคน แถมแต่ละคนยังมีสิทธิและอำนาจทุกอย่างเท่ากันอีกต่างหาก นั่นคือ "นิตยสารไปยาลใหญ่" ที่บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ
...
หลายปีผ่านไป เวลามีโอกาสได้พบเจอพี่ๆ บรรณาธิการเหล่านั้น อย่าง "พี่อั๋น"ปินดา โพสยะ ฉันจะบอกเขาว่า "พี่รู้มั้ย เวลานึกถึงไปยาลใหญ่ทีไร จะเห็นแต่ภาพพี่นั่งอยู่ที่โต๊ะเขียนแบบตอนดึกๆ แล้วนั่งแปะอาร์ตเวิร์คด้วยกาวยางน้ำขวดเขลอะๆ ขวดหนึ่ง"
...
ส่วนใหญ่ตอนนั้นฉันจะเห็นพี่อั๋นจะเป็นคนปิดเล่ม คอลัมน์ไหนใครไม่ส่ง พี่อั๋นก็จะเขียนเอง จนสามารถมีอาร์ตเวิร์คครบถ้วนพร้อมส่งโรงพิมพ์ได้ในที่สุด
...
สำหรับคุณศุ บุญเลี้ยง บรรณาธิการของไปยาลใหญ่อีกคนในตอนนั้น ภาพย้อนความหลังที่ฉันมองกลับไปเห็นเขาก็คือ ทุกๆ เช้า เขาจะเดินลงมาจากชั้นบนพร้อมกับคัตเตอร์หนึ่งเล่ม เพื่อตัดข้อความที่เขาไม่ต้องการจากอาร์ตเวิร์คทิ้งไป
...
บางวันเขาอาจจะถามถึงอาร์ตเวิร์คที่เคยตัดทิ้งไปเมื่อวานว่าอยู่ตรงไหน เพราะวันนี้เขาอยากจะลองเอามาใส่ไว้ที่เดิมเพื่อพิจารณาอีกที หลังจากนอนคิดไปคิดมาอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว—นั่นคือความละเอียดลออถี่ถ้วนของ ศุ บุญเลี้ยง ในภาพความหลังของฉัน :)
...
สมัยไปยาลใหญ่นั้น พี่ๆ เขาต้องวางเลย์เอาท์ทำอาร์ตเวิร์คหนังสือบนกระดาษ ไม่ใช่ในคอมพิวเตอร์เหมือนตอนนี้ พวกเขาต้องตัดแปะอาร์ตเวิร์คกันทั้งเล่ม สระอะ สระอา ถ้าตกหล่น ต้องตัดแปะทีละตัว
...
ใครเผลอเปิดพัดลมหน่อยนะ
ฟึ่บ!
ไม่มีหรอกคอมพิวเตอร์แมคอินทอช สำหรับทำหนังสือ
หรือโปรแกรมอินดีไซน์สบายๆ ที่พวกเราใช้ทำกันตอนนี้
...--
ฉันทำงานตอนนี้ แล้วกลับไปนึกดูวิธีทำงานตอนนั้น
ฉันว่า พี่ๆ เขาอึดกันมากเลยนะ เพราะการทำงานมันยากลำบากมาก
...
สำหรับคุณประภาส ชลศรานนท์ บรรณาธิการอีกคนหนึ่งของไปยาลใหญ่ จำได้ว่าฉันทำงานอยู่ไปยาลใหญ่หลายปี แต่มีโอกาสได้พบเจอคุณประภาสน้อยมาก เพราะเขามักจะเข้าออฟฟิศตอนค่ำๆ ปลายเดือน พร้อมกับห่อสีน้ำตาลห่อหนึ่ง ซึ่งก็คือเงินเดือนของพวกเราทั้งออฟฟิศนั่นเอง
...
นั่นคือรูปแบบของ"บรรณาธิการ"ที่ฉันเคยผ่านพบในยุคเริ่มต้นทำงานหนังสือ
...
ประสบการณ์สุดวิเศษเหล่านั้น ทำให้ฉันไม่เคยยึดติดกับตำแหน่งใดๆในงานหนังสือเลย จากวันนั้นถึงวันนี้ยังคิดอยู่เสมอว่า ในการทำหนังสือจริงๆแล้ว ตำแหน่งอะไรไม่สำคัญเลย มันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำอะไร แล้วทำมันได้ดีแค่ไหนเท่านั้นเอง
...
แต่ในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าเราก็จะต้องให้ความสำคัญกับตำแหน่งพวกนี้ขึ้นมาอีกนิด เพราะในบางออฟฟิศมันหมายถึงอัตราเงินเดือน ความรับผิดชอบ ความมีหน้ามีตา และอะไรต่อมิอะไร
...
สมัยที่ฉันทำงานบริหารในบริษัทผลิตหนังสือแห่งหนึ่ง ฉันยังจำภาพตอนเย็นๆ ที่มักจะมีพนักงานแง้มประตู ห้องทำงาน แล้วยื่นหน้าเข้ามาถามฉันว่า "พี่ว่างมั้ย ขอคุยกับพี่เรื่องงาน(แบบส่วนตัว)นิดนึง"
.........
หลายครั้งในการเข้าพบแบบส่วนตัวเหล่านั้น
ก็หมายถึงการพูดคุยเกี่ยวกับ "ตำแหน่ง" ในออฟฟิศโดยเฉพาะ
..
บางครั้ง เป็นการพูดคุยของพนักงานปกติ เกี่ยวกับการทำงานในตำแหน่งของหัวหน้างานที่ตนไม่ยอมรับ และถามฉันว่ามันเหมาะสมดีแล้วหรือ ที่มอบตำแหน่งนี้ให้คนๆ นี้ "ไม่มีใครนับถือเค้าเลยนะพี่ ถึงเค้าจะมีตำแหน่งก็เถอะ" ฉันยังจำคำพูดนั้นได้
...
บางครั้ง การแง้มประตู ก็เป็นการเข้าพบของ"หัวหน้า"ที่ว่า ที่เข้ามาคุยทั้งน้ำตา ขอคืนตำแหน่ง ก็ต้องปลอบโยนกันไปตามสภาพ จนมีชีวิตรอดแบบทางใครทางมันมาได้จนทุกวันนี้
...
ครั้งหนึ่ง ฉันเคยมีนามบัตรในตำแหน่ง "บรรณาธิการบริหาร" เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ทางเจ้านายต้องการขยายงานมากขึ้น หมายถึงว่าฉันจะทำงานอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น อย่างใหม่ ตามที่เจ้านายมอบหมายมา
...
ฉันจึงมีหน้าที่ต้องรับสมัครพนักงานใหม่เพื่อมาทำงานโดยตั้งใจว่าจะให้ทำในตำแหน่ง "หัวหน้ากองบรรณาธิการ" เพื่อดูแลงานแทนฉันทั้งหมด เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีหัวหน้ากองบรรณาธิการมาทำงานแทนคนที่ลาออกไป
...
ความที่เราต้องทำงานใกล้ชิดกัน ต้องเป็นทีมเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น ถ้าได้ไม่ดีมาหมายถึงนรกมาเยือนศรีษะฉันชัวร์ๆเลย ฉันจึงพิถีพิถันในการเลือกคนมาก โดยไม่ยอมใช้ใบสมัครจากฝ่ายบุคคลเลย แต่ใช้วิธีเสาะหาเอาเองตัวต่อตัว เพื่อนฝูงที่ไว้ใจได้แนะนำต่อๆ กันมาบ้าง
...
ฉันสัมภาษณ์เองทีละคน ทีละคน ทั้งในห้องทำงานของตัวเอง ตามร้านอาหาร หรือแม้แต่ในบางสถานที่เช่น ผับดังๆ บางแห่งซึ่งฉันไม่เคยคิดจะไป แต่ก็ต้องไปเพื่อจะได้พบกับพนักงานในอนาคตที่อยากได้
...
มีรายหนึ่งน่าสนใจมาก ประวัติการทำงานก็ดี การพูดการจาก็เข้าที เป็นที่ไว้วางใจว่าจะสามารถคุยงานกับเจ้านายเราแทนเราได้ในยามคับขัน การพูดคุยสัมภาษณ์ดีมาก ติ๊กผ่านเกือบทุกข้อ จนฉันเกือบจะตกลงรับเขาทำงานอยู่แล้วในวันนั้น
........
ถ้าจู่ๆ เขาไม่ถามขึ้นมาว่า "ผมทำงานให้พี่เหมือนเดิม ทำทุกอย่างที่พี่ให้ทำ ซึ่งผมคิดว่าผมทำได้ เงินเดือนก็ตามที่เราตกลงกันไว้ แต่ผมขออย่างเดียวว่า ให้ตำแหน่งผมเป็น "บรรณาธิการบริหาร"ของออฟฟิศพี่ได้ไหม"
...
ฉันเกือบสำลักอาหาร ขำมาก แต่ไม่กล้าหัวเราะ ได้แต่บอกเขาว่า "ถ้าได้ทำงานด้วยกันจริงๆ ก็เอาไป พี่ให้ได้เลยนะ ไม่ขัดข้องอะไร"ฉันพูดไปอย่างนั้น และคิดว่าทำให้ได้จริงๆ
...
เขาถามว่า "อ้าว! มันเป็นตำแหน่งของพี่อยู่ตอนนี้ ถ้าพี่ให้ผม แล้วพี่จะเป็นตำแหน่งอะไรล่ะ"
..
ตอนนั้นฉันไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้มาก่อน จึงบอกเขาว่า "ยังไม่รู้เลย แต่จริงๆ พี่ก็ทำงานของพี่ไปตามหน้าที่โดยไม่ต้องมีตำแหน่งอะไรก็ได้ พี่ไม่สนใจเรื่องพวกนี้หรอก ไม่ต้องห่วงพี่หรอก" แน่ะ--นึกว่าเขาห่วงฉันนะตอนนั้น จริงๆ เขาห่วงตัวเองต่างหากเล่า!
...
เขาร้องว่า "โอ๊ย! ไม่ได้ ไม่ได้นะพี่ พี่ทำอย่างนั้นไม่ได้ พี่ต้องเลื่อนตำแหน่งขึ้นสูงอีกหน่อย พี่ก็ตั้งขึ้นมาอีกตำแหน่งนึง อะไรก็ได้ แต่ผมว่า พี่น่าจะเป็นบรรณาธิการอำนวยการมากกว่านะ"
..
"อ่า พี่ว่าตำแหน่งมันดูแก่ๆ ชอบกลนะ เหมือนข้าราชการแก่ๆ ไงไม่รู้" ฉันว่า
...
"งั้น เป็นตำแหน่งบรรณาธิการที่ปรึกษาก็ได้" เขาเสนออีก
............
ฉันก็ว่า "อ๊าย! พี่นะต้องทำด้วย ลงมือด้วย ไม่ใช่แค่ให้คำปรึกษา เพราะที่นี่งานหนัก งานเยอะ เราต้องทำเองด้วย ใช้วาจาอย่างเดียวไม่ได้"
...
หลังจากนั้น เขาก็เสนออีกหลายตำแหน่งให้ฉัน ซึ่งฉันเองก็ฟังขำๆ เพราะไม่เห็นว่ามันสำคัญตรงไหน นึกไปขำไปว่าใครสมัครงานกับใครกันแน่ฟระเนี่ย!
--
ในที่สุด ฉันก็ไม่ได้เลือกเขา
...
ภายหลัง ฉันก็ได้คนมาช่วยงานหลายตำแหน่ง ทั้งหัวหน้ากองบรรณาธิการ ทั้งบรรณาธิการบริหาร นั่นแหละ ตอนนั้นถ้าเขาไม่ใจร้อนไปนิดประสาคนหนุ่มรอไม่ได้ --เขาก็จะได้ทุกอย่างที่อยากได้นั่นแหละ :)
................
เขาคงไม่มีโอกาสได้รู้เลยตลอดชีวิต ว่าเขาพลาดที่จะได้งานนี้
ก็เพราะความยึดติดกับตำแหน่งของเขานี่เอง
............
แต่มานึกอีกทีวันนี้
บางที อาจเป็นโชคดีของเขาก็ได้นะ ที่ชวดงานนี้
นึกห่วงแต่ว่า ถ้าจะต้องไปสมัครงานอื่นอีกล่ะก็ ...
เขาจะเป็นอย่างไรบ้างนะ :)
--